ข่าวสารและกิจกรรม
AWC ประกาศผลประกอบการไตรมาส 3/2566 กำไรสุทธิ 1,136 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่องแม้จะเป็นช่วงโลว์ซีซั่น รวม 9 เดือนแรกกำไรสุทธิ 3,746 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่าช่วงเดียวกันก่อนสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2562
- รายได้รวมตามงบการเงินไตรมาสสาม 4,666 ล้านบาท และรายได้รวม 9 เดือนแรก 14,076 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเติบโตกว่าช่วงเดียวกันปี 2562 ก่อนโควิด-19
- ทรัพย์สินดำเนินงานเปิดใหม่ของบริษัทมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท ตอบโจทย์เป้าหมายกลยุทธ์การเติบโต (GROWTH-LED Strategy) สร้างกระแสเงินสดก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง
- เพิ่มขีดความสามารถของทรัพย์สิน Ramp Up สู่ระดับดำเนินงานปกติ มูลค่ากว่า 12,500 ล้านบาท สร้างผลตอบแทนกระแสเงินสดสูงถึงร้อยละ 10.2 (EBITDA Yield) ด้วยกลยุทธ์ผลักดันรายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) ใน 9 เดือนแรกของปี สูงถึง 3,619 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.6 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเติบโตกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ปี 2562
8 พฤศจิกายน 2566, กรุงเทพฯ ประเทศไทย – นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เผยผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2566 ตามงบการเงินรวมมูลค่ายุติธรรม มีรายได้รวมกว่า 4,666 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และมีกำไรสุทธิ 1,136 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องอย่างแข็งแกร่งแม้อยู่ในช่วงโลว์ซีซั่น และตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาสามารถผลักดันศักยภาพของทรัพย์สิน Ramp Up สู่ระดับดำเนินงานปกติ มูลค่ากว่า 12,500 ล้านบาท สร้างผลตอบแทนกระแสเงินสดสูงถึงร้อยละ 10.2 (EBITDA Yield) ทั้งนี้ในไตรมาส 3/2566 บริษัทมีทรัพย์สินดำเนินงานที่สามารถสร้างรายได้อยู่ที่กว่าร้อยละ 85 รวมมูลค่า 125,758 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 52 เทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2562 โดยสะท้อนศักยภาพการดำเนินงานตามกลยุทธ์ GROWTH-LED Strategy โดยสามารถเปิดตัวโรงแรมและห้องอาหารหลากหลายแห่งในไตรมาส 3 รวมมูลค่ารวมกว่า 10,000 ล้านบาท
“ผลการดำเนินงานใน 9 เดือนแรกตามงบการเงินของปี 2566 AWC มีการเติบโตต่อเนื่องในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน (อิบิทดากลุ่มธุรกิจ) ที่ 7,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.9 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) ซึ่งเป็นผลมาจากกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการที่เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมในกรุงเทพฯ และโรงแรมอื่นๆ นอกกรุงเทพฯ ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าพักโรงแรมในเครือ AWC เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตรารายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPAR) ใน 9 เดือนแรกของปี สูงถึง 3,619 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) สำหรับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail, Wholesale and Commercial) AWC ได้ปรับกลยุทธ์ในการเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันให้กับโครงการในพอร์ตโฟลิโออย่างต่อเนื่อง พร้อมตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าและนักท่องเที่ยวในยุคปัจจุบัน เพื่อเสริมศักยภาพการเติบโตของกระแสเงินสดในระยะยาว”
กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ (Hospitality)
ในไตรมาส 3/2566 ผลการดำเนินงานตามงบการเงินของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการมีกำไรจากการดำเนินงาน (อิบิทดา) อยู่ที่ 692 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการเปรียบเทียบราคาห้องพักและอัตราการเข้าพัก (Revenue Generation Index หรือ RGI) ในภาพรวมสูงกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับโรงแรมในกลุ่มเดียวกันที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ โรงแรม Courtyard by Marriott Phuket Town มีค่า RGI เท่ากับ 254 และโรงแรม Bangkok Marriott Hotel The Surawongse เท่ากับ 218 เป็นต้น นอกจากนี้ AWC ยังมุ่งเสริมความแข็งแกร่งพอร์ตโฟลิโอกลุ่มโรงแรมที่ตั้งอยู่ในทําเลยุทธศาสตร์ เสริมศักยภาพด้วยการพัฒนาโครงการคุณภาพในพอร์ตโฟลิโอ พร้อมร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรระดับโลก เพื่อสนับสนุนการเติบโตของทรัพย์สินดำเนินงานในการสร้างกำไรจากการดำเนินงาน (อิบิทดากลุ่มธุรกิจ) อย่างต่อเนื่อง
AWC มุ่งพัฒนาทรัพย์สินคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเปิดตัวโรงแรมและห้องอาหารชั้นนำระดับโลกมากมาย เพื่อรองรับความต้องการของตลาด พร้อมมอบประสบการณ์การท่องเที่ยว การบริการด้านอาหารและเครื่องดื่มที่พิเศษให้กับลูกค้า ส่งเสริมประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก โดยในไตรมาสที่ 3 นี้ AWC มีจำนวนห้องพักรวม 6,034 ห้อง เพิ่มขึ้นร้อยละ 76 เทียบกับก่อนโควิด-19 ในปี 2562 จากการเปิดดำเนินงานหลายโครงการ อาทิ การเปิดโรงแรม INNSiDE by Meliá Bangkok Sukhumvit ที่ออกแบบและก่อสร้างตามกรอบการรับรองของมาตรฐานอาคาร Excellence in Design for Greater Efficiency (EDGE) การเปิดโรงแรม InterContinental Chiang Mai The Mae Ping ซึ่งเป็นโรงแรมระดับลักซ์ชัวรี่ภายใต้แบรนด์ InterContinental แห่งแรกของภาคเหนือ และเป็นโรงแรมในรูปแบบพิพิธภัณฑ์มีชีวิตแห่งแรกของไทยที่ให้แขกได้สัมผัสกับวัฒนธรรมและศิลปะล้านนา และเป็นโรงแรมที่ได้รับการพิจารณารับรองมาตรฐาน LEED สําหรับการออกแบบและก่อสร้างอาคาร และมาตรฐาน WELL Pre-certified แห่งแรกของภาคเหนือ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวคุณภาพกลุ่มลักซ์ชัวรี่จากทั่วโลก การเปิด Chiang Mai Marriott Hotel โรงแรมแบรนด์ Marriott แห่งแรกของภาคเหนือ ที่มีพื้นที่เพื่อรองรับการจัดงานประชุม MICE ระดับลักซ์ชัวรี่ที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังเปิดห้องอาหารใหม่ด้วยคอนเซ็ปที่มีเอกลักษณ์ ดึงดูดลูกค้าหลากหลายไลฟ์สไตล์ อาทิ การเปิดห้องอาหารจีน Yue Restaurant and Bar ที่โรงแรม Courtyard by Marriott Phuket Town และห้องอาหารญี่ปุ่นรวม 4 ร้านต้นตำรับระดับพรีเมี่ยม Kissuisen ที่โรงแรม Bangkok Marriott Hotel The Surawongse ทั้งนี้ปัจจุบันมีจำนวนโรงแรมของ AWC ที่เปิดดำเนินการทั้งหมด 22 โรงแรม
กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail, Wholesale and Commercial)
สำหรับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการค้าปลีก (Retail) ในไตรมาส 3/2566 มีกำไรจากการดำเนินงาน (อิบิทดา) ตามงบการเงินอยู่ที่ 963 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 124.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับปรุงพัฒนาศูนย์การค้าให้เข้ากับกลยุทธ์การตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะศูนย์การค้าเพื่อการท่องเที่ยว อาทิ โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น ที่ได้ปรับกลยุทธ์การตลาดสู่การเป็นรีเทล-เทนเม้นท์ริมแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งช่วยให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ สำหรับธุรกิจค้าส่ง (Wholesale) AWC ได้ร่วมมือกับ “Koelnmesse” ผู้จัดงานแสดงสินค้าชั้นนำระดับโลกจากเมืองโคโลญ ประเทศเยอรมนี ร่วมยกระดับอุตสาหกรรมการค้าส่งไทย สร้างเครือข่ายระดับโลกเพื่อเชื่อมโยงพันธมิตร ผู้ซื้อ และผู้ขายผ่านฐานเครือข่ายของ AWC และ Koelnmesse สนับสนุนประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการสรรหาสินค้า (International Sourcing Hub) ที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในระดับภูมิภาค
กลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงาน (Commercial) ยังคงเป็นธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัทอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 3/2566 มีอัตราค่าเช่าเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากกลยุทธ์การยกระดับอาคารสำนักงานให้เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับองค์กรและคนทำงานรุ่นใหม่ทั่วโลก (Global Workforce Destination) อาทิ การเปิดตัว “Co-Living Collective: Empower Future” ของอาคาร ‘เอ็มไพร์’ ไลฟ์สไตล์สเปซแห่งใหม่ที่รองรับเทรนด์อนาคตในการผสมผสานการทำงานและการใช้ชีวิตเข้าด้วยกัน รวมถึงการได้ต้อนรับ 2C2P บริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการชำระเงินระดับโลก เปิดสำนักงานแห่งใหม่ที่อาคาร ‘เอ็มไพร์’ พร้อมร่วมขับเคลื่อนดิจิทัลอีโคซิสเต็มในอาคาร เชื่อมต่อผู้เช่าและพนักงานของบริษัทชั้นนำเข้าด้วยกัน ตอกย้ำอาคารสำนักงานรูปแบบใหม่ที่ผสานการทำงานและไลฟ์สไตล์อย่างลงตัวที่แท้จริง
AWC มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามแผนกลยุทธ์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน โดยล่าสุดได้คะแนนการประเมินด้าน ESG ประจำปี 2566 ในระดับสูงอยู่ที่ 77 คะแนนจาก S&P Global ESG และ ได้รับการจัดอันดับ SET ESG Rating ‘A’ จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย AWC เป็นหนึ่งใน 193 บริษัทฯ ทั้งหมดที่ผ่านการคัดเลือก และได้รับการประกาศรายชื่อหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ประจำปี 2566 ในกลุ่มของอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (Property & Construction) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 นอกจากนี้ในไตรมาสที่ผ่านมา กลุ่มโรงแรมและศูนย์การค้าในเครือ AWC กว่า 18 แห่งได้รับประกาศนียบัตร “ดาวแห่งความยั่งยืน” หรือ STAR (Sustainable Tourism Acceleration Rating) จากทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สะท้อนความมุ่งมั่นขององค์กรในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการมีธรรมาภิบาลที่ดี นอกจากนี้ AWC ได้แสดงความมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์กรอบการดำเนินงานการพัฒนาที่ยั่งยืน 3BETTERs ผ่านการเปิดตัวโครงการ “AWC Stay to Sustain” ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูต้นไม้ในป่าชุมชน เพิ่มความหลากลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ ควบคู่การสร้างรายได้ในชุมชนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว พร้อมสนับสนุนประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก