AWC ประกาศผลประกอบการ ไตรมาส 4/2565 กำไรก้าวกระโดด รวมปี 2565 กำไรสุทธิ 3,981 ล้านบาท เพิ่มมากกว่า 2.8 เท่า เมื่อเทียบกับปีก่อน

27 กุมภาพันธ์ 2566

เติบโตอย่างแข็งแกร่งร่วมขับเคลื่อนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ด้วยสินทรัพย์คุณภาพที่เพิ่มขึ้น และการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง

27 กุมภาพันธ์ 2566, กรุงเทพฯ ประเทศไทย - นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC เผยผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2565 ด้วยผลการดำเนินงานประจำไตรมาสที่ยอดเยี่ยมที่สุดของปี โดยมีกำไรสุทธิตามงบการเงิน 1,438 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) รวมกำไรสุทธิตามงบการเงินปี 2565 อยู่ที่ 3,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมากกว่าร้อยละ 280 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เป็นผลจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของกลุ่มโรงแรมที่สามารถสร้างอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยต่อวัน (Average Daily Rate หรือ ADR) สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของ AWC สอดรับการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบในครึ่งหลังของปี 2565 แสดงให้เห็นศักยภาพขององค์กรในการสร้างกระแสเงินสดจากทรัพย์สินดำเนินงานคุณภาพที่เพิ่มขึ้นประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และพร้อมหนุนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง

“ผลประกอบการในไตรมาส 4/2565 ที่ผ่านมานี้ นับเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดในรอบปี 2565 ของบริษัท ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวของประเทศที่กลับมาฟื้นตัวอย่างเด่นชัดในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวส่งท้ายปี (High Season) และการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้ภาพรวมการดำเนินงานของ บริษัทกลับมาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สะท้อนศักยภาพของ AWC ที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและการบริการที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่การแพร่ระบาด COVID-19 ในต้นปี 2563 ขณะที่กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail & Commercial) ยังสามารถสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งให้กับบริษัทได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน จากแผนพัฒนาและปรับกลยุทธ์ของโครงการต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอาคาร “เอ็มไพร์” ภายใต้แนวคิด Co-Living Collective: Empower Future หรือ โครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น เพื่อสร้างแลนด์มาร์คการท่องเที่ยวไลฟ์สไตล์ริมแม่น้ำใหญ่ที่สุด ผ่านประสบการณ์ “ALL DAY EVERYDAY HAPPINESS” และกิจกรรมความบันเทิงร่วมกับเดอะ วอลต์ ดิสนีย์ ใน “DISNEY100 VILLAGE AT ASIATIQUE” รวมถึงการที่บริษัทได้รับกำไรจากการรวมมูลค่ายุติธรรมของอสังหาริมทรัพย์ในปี 2565 จำนวนกว่า 4,920 ล้านบาท แสดงให้เห็นการเพิ่มมูลค่าอย่างต่อเนื่องของพอร์ตทรัพย์สินคุณภาพซึ่งมากกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน” นางวัลลภา กล่าว

กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ

ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ เติบโตอย่างก้าวกระโดดสอดรับกับมาตรการการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ โดยมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวด้วยตัวเอง (Foreign Independent Tour หรือ FIT) จำนวนกว่า 11.8 ล้านคนในปี 2565 ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง (High-to-Luxury) ส่งผลให้ภาพรวมการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจนี้ กลับมาเติบโตขึ้นในทุกเซ็กเมนต์ โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมประชุมสัมมนา (MICE) กลุ่มโรงแรมในกรุงเทพฯ กลุ่มรีสอร์ทระดับลักซ์ซูรี รวมถึงเซ็กเมนต์อาหารและเครื่องดื่มจากงานอีเว้นท์ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น อาทิ การฉลองในช่วงเทศกาลปีใหม่เป็นต้น โดยในไตรมาส 4 นี้ ภาพรวมอัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate) ของโรงแรมในเครือ AWC อยู่ที่ร้อยละ 63.5 และมีราคาห้องพักเฉลี่ยต่อวัน (ADR) อยู่ที่ 5,697 บาทต่อคืน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 45.7 เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงที่สุดตลอดการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท

นอกจากนี้ ในไตรมาส 4/2565 กลุ่มธุรกิจโรงแรมและบริการมีรายได้จากการดำเนินงาน 2,499 ล้านบาท คิดเป็นกำไรจากการดำเนินงาน (อิบิทดา) กว่า 848 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด อยู่ที่ร้อยละ 11,535 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 71.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยมี Revenue Generation Index (RGI) ในภาพรวมสูงกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับโรงแรมในกลุ่มเดียวกันที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ โรงแรม แบงค็อกแมริออท เดอะ สุรวงศ์ มีค่า RGI เท่ากับ 223.6 โรงแรม บันยันทรี กระบี่ มีค่า RGI เท่ากับ 184.4 และโรงแรม คอร์ทยาร์ด แมริออท ภูเก็ต ทาวน์ มีค่า RGI เท่ากับ 176.8 เป็นต้น

AWC ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าเสริมพอร์ตคุณภาพในกลุ่มโรงแรมและการบริการ ด้วยการเข้าลงทุนในโรงแรม เดอะ เวสทิน สิเหร่ เบย์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ภูเก็ต และโรงแรมดุสิต ดีทู เชียงใหม่ เพื่อใช้ศักยภาพและความได้เปรียบในการพัฒนาทรัพย์สินคุณภาพเสริมความได้เปรียบในการแข่งขันและเสริมพอร์ตทรัพย์สินดำเนินงานเพื่อสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งให้กับบริษัทในฐานะทรัพย์สินดำเนินงานที่สามารถรับรู้รายได้ในทันที รวมถึงโรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว แบงค็อก วินด์เซอร์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินอยู่ในระหว่างการพัฒนา ส่งผลให้ในสิ้นปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทมีจำนวนโรงแรมที่เป็นสินทรัพย์ดำเนินการทั้งหมด 20 โรงแรม รวม 5,458 ห้อง ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มี 16 โรงแรม และจำนวนห้องรวม 3,432 ห้อง

กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ (Retail & Commercial)

กลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงาน ยังคงสร้างกระแสเงินสดให้แก่บริษัทเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มปี 2565 และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 ซึ่งเป็นผลมาจาก ศักยภาพของอาคารสำนักงานเกรด A ที่คำนึงด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อบริหารจัดการพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ AWC ได้ยกระดับมาตรฐานใหม่เป็นครั้งแรกของวงการอาคารสำนักงาน ด้วยการมอบพื้นที่ 1,500 ตร.ม. ให้เป็น Co-Living เปิดประสบการณ์พิเศษ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายให้ผู้เช่าได้เสริมรูปแบบการกลับมาทำงานแบบ New Normal อีกทั้งช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายขององค์กรและพนักงานจากทั่วโลก และเป็นจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งในใจของคนทำงานรุ่นใหม่อีกด้วย

ภาพรวมของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้า มีผลการดำเนินการที่เติบโตต่อเนื่องครอบคลุมเกือบทุกเซ็กเมนต์เช่นกัน จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาครึกครื้น การจับจ่ายใช้สอยและการรับประทานอาหารนอกบ้านเพื่อพบปะสังสรรค์ในช่วงเทศกาลปลายปี โดยเฉพาะในกลุ่มคอมมูนิตี้ช็อปปิ้งมอลล์ ส่งผลให้รายได้เติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 18 นอกจากนี้ ศูนย์การค้าเพื่อการท่องเที่ยวอย่างโครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น ก็มีการเติบโตของรายได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 98 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนลูกค้าชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาใช้บริการเพิ่มขึ้น และการปรับกลยุทธ์เพื่อดึงดูดผู้เช่า ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าทุกกลุ่ม ผ่านกิจกรรมพิเศษต่างๆ ตลอดทั้งปี

“AWC มุ่งมั่นที่จะยกระดับและเสริมศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ ตอบรับนโยบาย “ปีท่องเที่ยวไทย 2566” ผ่านการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าประเทศและคนไทยที่ท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มมากขึ้น ทางบริษัทจึงดำเนินกลยุทธ์เร่งดำเนินการเปลี่ยนสินทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นสินทรัพย์ดำเนินงาน และสร้างการเติบโตของผลตอบแทนของทรัพย์สินดำเนินงานเพื่อสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องให้กับบริษัท ควบคู่ไปกับการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่กระทบกับคุณภาพการบริการ อาทิ การเพิ่มขึ้นของยอดการสำรองห้องพักโดยตรงกับทางโรงแรม (Direct Booking) การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ (Solar Cell) เพื่อเพิ่มพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการบริหารจัดการด้านต้นทุนค่าใช้จ่ายของบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ (HR Multiple) เพื่อสร้างมูลค่าและผลตอบแทนสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นที่จะส่งผ่านเป็นอิบิทดา (Flow Through) ในสัดส่วนมากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ โดยในปี 2566 นี้ AWC ยังคงพัฒนาโครงการต่างๆ ในทุกกลุ่มธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อจะเปิดให้บริการในปี อาทิ โรงแรม อินน์ไซด์ กรุงเทพ สุขุมวิท โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง และโรงแรมแมริออท เชียงใหม่ รวมถึงการยกระดับมาตรฐานใหม่ของกลุ่มอาคารสำนักงาน การพัฒนาโครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น ที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับองค์กรอย่างยั่งยืน” นางวัลลภา กล่าวเสริม

AWC มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามแผนกลยุทธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อ “สร้างคุณค่าด้านความยั่งยืนในระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ผ่านกรอบการดำเนินงาน 3 เสาหลัก (3BETTERs): Better Planet, Better People, Better Prosperity โดยล่าสุด AWC ได้ติดอันดับรายงานความยั่งยืน S&P CSA Yearbook 2023 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็น “Top 1% S&P Global ESG Score 2022” และรางวัล “Industry Mover” ในฐานะบริษัทที่มีความยั่งยืนของกลุ่มอุตสาหกรรมโรงแรม รีสอร์ท และเรือสำราญ โดยความสำเร็จนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้พันธกิจ “สร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่า”

ย้อนกลับ